
ฉลากเขียว (Green Label)
ฉลากเขียว (Green Label) คือ ฉลากสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งเป็นฉลากประเภท 1 ซึ่งมีองค์กรกลางเป็นผู้ให้การรับรอง การติดฉลากบนสินค้าเพื่อต้องการสื่อสารให้ผู้บริโภครู้ว่า สินค้าที่ได้รับการรับรองด้วยฉลากนี้เป็นสินค้าที่มีองค์ประกอบ กระบวนการผลิต การใช้ ตลอดจนถึงการทิ้งทำลายที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ไม่ได้รับการรับรอง ผู้บริโภคหรือผู้ใช้สินค้าที่ต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเลือกซื้อสินค้าเหล่านี้ได้จากการสังเกต”ฉลากเขียว”ที่ติดแสดงอยู่บนฉลากของสินค้านั้น
ข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์จะมีการพิจารณาและกำหนดแตกต่างกันไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์หรือบริการและความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ ทั้งในแง่การผลิต การใช้ การทิ้งทำลาย คือครบทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั่นเอง ซึ่งจะคำนึงถึงการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด การลดภาวะมลพิษทางสิ่งแวดล้อมทางสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมให้มีการผลิต การขนส่ง การใช้และการกำจัดทิ้งหลังการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำขยะกลับมาใช้ (reuse) และการแปรใช้ใหม่ (recycle)
โครงการฉลากเขียวของประเทศไทย
“ฉลากเขียว”เกิดจากแนวคิดใหม่ที่เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศแรกที่เริ่มโครงการฉลากเขียว เมื่อปี 2520 ต่อมามีการรวมกลุ่มของประเทศทั่วโลกก่อตั้งเครือข่ายฉลากสิ่งแวดล้อม (Global Ecolabelling Network : GEN) เพื่อดำเนินการโครงการฉลากเขียว ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 30 ประเทศ สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ GEN ด้วย มีการทำความตกลงยอมรับการดำเนินการระดับองค์กร และความเชื่อถือของห้องปฏิบัติการในการทดสอบตามมาตรฐานร่วมกัน (Mutual Recognition Agreement)ทำให้ “ฉลากเขียว” ของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว
ผลิตภัณฑ์ที่สามารถขอการรับรองฉลากเขียวได้นั้น จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ สินค้าและบริการบางประเภท ยกเว้นยา เครื่องดื่มและอาหาร เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทั้งสามประเภทที่กล่าวมานั้นจะเกี่ยวข้องกับสุขภาพ ความปลอดภัยในการบริโภคมากกว่าผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การติดฉลากเขียวอาจสร้างความสับสนให้แก่ผู้บริโภคได้ จึงยกเว้นในสามกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ปัจจุบันฉลากเขียวของประเทศไทยมีข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆแล้วจำนวน 48 ผลิตภัณฑ์ สามารถดูรายละเอียดข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ได้ที่เว็บไซต์http://www.tei.or.th/greenlabel/th_index.htmlซึ่งปัจจุบันมีการปรับปรุงข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์บางรายการ คาดว่าจะประกาศข้อกำหนดที่ปรับปรุงใหม่นี้ในเดือนกันยายน 2554 ผู้สนใจสามารถติดตามทางเว็บไซต์ของฉลากเขียวได้
ผลิตภัณฑ์ฉลากเขียวกับสิ่งทอ
ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่อยู่ในข้อกำหนดของฉลากเขียว คือ “ผ้าและผลิตภัณฑ์ทำจากผ้า” ซึ่งมีขอบข่ายของผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่สามารถขอการรับรองได้ คือ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเคหะสิ่งทอ
ผลิตภัณฑ์ที่จะยื่นขอการรับรองจะต้องมีสมบัติตามข้อกำหนดฉลากเขียว คือ
1. ข้อกำหนดทั่วไป ซึ่งจะอ้างอิงไปถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 3 มาตรฐาน คือ
มอก. 2231– ผ้า: ความปลอดภัยจากสีและสารเคมีที่เป็นอันตราย
มอก. 2435– ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเด็ก
มอก. 2346– เสื้อผ้าสำเร็จรูป: ความปลอดภัยจากสีและสารเคมีที่เป็นอันตราย
2. กระบวนการผลิต การขนส่ง และการกำจัดของเสียจากกระบวนการผลิตต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของราชการ เช่น พระราชบัญญัติโรงงาน อุตสาหกรรม
3. ข้อกำหนดพิเศษ ซึ่งจะเพิ่มเติมจากข้อกำหนดทั่วไป เช่น ห้ามใช้สารทาเลต (Phthalate compounds) ในผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเด็ก เป็นต้น

ที่มา
http://www.bangkokbiznews.com/2008/02/13/WW83_8302_news.php?newsid=229434